Sunday, November 10, 2013

นาฏศิลป์เป็นวิชาเลือก ไม่ดีตรงไหน?

วันนี้ มีโอกาสได้อ่านบทความของคุณ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ ในคอลลัมน์อกาลิโก ในนิตยสารเวย์ แมกกาซีน ฉบับที่ 67

จะบอกว่าเห็นด้วยก็ไม่เชิง แต่ออกแนวอยากโต้เถียงต่อข้อหยิบยกที่นำเสนอในบทความ

WAY67_Cover

ในบทความดังกล่าว ดูจะหยิบยกประเด็นเรื่องการศึกษานาฏศิลป์ไทย เข้ากับหลักศาสนา ซึ่งบอกว่า การศึกษานั้น ควรจะมีการฝึกบังคับตน ตามที่หลักศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ และอิสลามต่างสอนให้ผู้ที่ธำรงค์ในศาสนาต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้เข้าอกเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น

เช่น ในศาสนาคริสต์ “ถ้าเขาตบแก้มขวา ให้เรายื่นแก้มซ้ายให้ตบด้วย” และการถือศีลอด ในศาสนาอิสลาม เพื่อให้เข้าใจสภาพความเป็นอยู่อยากอดอยาก กระหาย

อันนี้บอกตามตรงว่าเราไม่เข้าใจทั้งหมด เพราะพื้นฐานของเราไม่ฝักใฝ่ศาสนาใดเป็นที่ตั้ง แต่ที่สืบต่อมาในประเด็นนี้คือ การที่บทความดังกล่าวกล่าวถึงยุดสมัยอาณานิคม (Colonialism) ว่าสืบเนื่องมาจากยุคหลังจากที่ชาวยุโรป ปลดแอกตัวเองออกจากการปกครองของศาสนา ก่อตั้งรัฐชาติ และกระทำการสนองความอยากได้ อยากมี และเข้ายึดครองประเทศต่างๆ เพื่อสนองความต้องการในประเทศของตน

เราเลยเกิดคำถามต่อมาว่า การศึกษาที่เชื่อมโยงกับการฝึกบังคับตนเอง (ตามหลักศาสนา) สำคัญอย่างไร? เพื่อจะได้ไม่เป็น “สุนัขหางด้วน” ตามที่อ้างถึงในบทความ

ในมุมมองของเรา การนำตัวเองออกจากข้อบังคับของศาสนาของชาวยุโรป เป็นการผันตัวเองมาจากการเชื่อในเรื่องที่ศาสนาเป็นผู้อธิบาย – ซึ่งใช่ว่าจะมีเหตุผลตอบได้ทุกเรื่องไป

ยกตัวอย่างเช่นคำสอนของพระเจ้าเอง ก็ผ่านการตีความแบบอัตถวิสัยนิยม (Subjectivism) ของผู้นำทางศาสนา ที่ได้รับเลือกสืบทอดมานั่นเอง ส่วนจะเลือกมาอย่างไร ตามความเหมาะสม ในวัยวุฒิ คุณวุฒิ ความนิยมชมชอบ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นการใช้เหตุผลของคนจำพวกเดียว ที่มองว่าตัวเองรู้มากกว่าคนอื่นเป็นตัวตัดสิน

ซึ่งหากมองให้ดีแล้ว เรากลับคิดว่า การตีความแบบนี้ ไม่ค่อยเป็นที่น่าเชื่อถือ และมีเหตุผลมารองรับเท่าใดนัก
ประเทศที่สอง การนำตัวเองออกจากข้อบังคับของศาสนา ก็เป็นการต่อยอดจากประวัติศาสตร์ ที่บันทึกผ่านถ้อยคำของศาสนา ให้มาสู่การนำไปปฏิบัติจริง

เมื่อสังคมยุโรปไม่ได้อยู่ในยุคที่ศาสนา สามารถนำพาความสุขมาสู่ปากท้องของประชาชน ชาวยุโรปจึงต้องปรับตัว ปลดแอกตัวเองออกมา ซึ่งนำไปสู่ปัญหาต่อไป คือการแก้ไขปัญหาทรัพยากรที่ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการล่าอาณานิคมตามมา

นี่ไม่ใช่หรือเป็นหลักการคิดแบบใช้เหตุ – ผล? เมื่อเหตุคือความขาดแคลน ผลคือการต้องหาเพิ่ม เป็นการแสวงหาทางออกที่ดีที่สุดในช่วงเวลา – สถานการณ์หนึ่ง

แต่ก็ต้องยอมรับว่าในเวลาเดียวกัน มีคนกอบโกยประโยชน์จากระบบดังกล่าว เพื่อสนองความโลภของตัวเอง

ที่นี้ย้อนมาสู่ระบบการศึกษาไทย ซึ่งตามที่กระทรวงศึกษาออกมายืนยันคือ จะยังมีอยู่ในระดับประถม และมัธยมต้น เป็นวิชาบังคับในกลุ่มศิลปะ

แต่ในระดับมัธยมปลายจะเป็นวิชาเสรี ซึ่งเป็นวิชาเลือก ตามความเหมาะสมของผู้เรียน โดยให้เหตุผลว่า “ผู้เรียนที่รัก – ชอบศิลปะแขนงนี้จริงจะได้สามารถศึกษาให้ลงลึกได้” ขณะที่ “ผู้เรียนที่ไม่ต้องการเรียนจะได้นำเวลาไปใช้ในการศึกษาวิชาอื่นตามความเหมาะสม”

เราว่าดีออก หรือไม่จริง?

การตั้งเป้าหมายในชีวิตเป็นสิ่งที่เหมาะสม และสมควรพัฒนาให้เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อที่ว่า ถ้าเรารู้ว่าเราต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

กรณีนี้ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย ในเมื่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนไป ตลาดแรงงานในประเทศก็เปลี่ยนตาม เด็กยุคใหม่ควรจะต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ ความต้องการของตลาด และหันไปหาอาชีพที่ยั่งยืน เพื่อสนองสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของตน

อันนี้ไม่เพียงตอบโจทย์ในระยะยาวแล้ว ในระยะสั้น เรายังควรที่จะต้องกำหนดเป้าหมายในการดำเนินชีวิตด้วย
เราจึงเห็นว่า การตัดสิ่งที่เป็นทางเลือกออกไปจากความจำเป็นในชีวิต ถือเป็นก้าวใหม่ของการศึกษาไทย (ที่จะทำให้คนมีวินัยในการศึกษาสิ่งที่รัก สิ่งที่ชอบมากขึ้น)

นอกจากนี้ คนที่มีใจรัก และมุ่งมั่นกับการศึกษาศิลปกรรมนาฏศิลป์ของไทย ยังจะได้ศึกษาหาความรู้ได้อย่างเต็มที่ เพื่อสนองความต้องการเรียนรู้ของตัวเองให้สุดทาง


ไม่ใช่ครึ่งๆกลางๆแบบวันนี้ ยังงี้ไม่ดีกว่าหรือ?     

ขอบคุณนิตยสารเวย์ แมกกาซีน ที่ทำให้ได้คิดอะไรต่อยอดแบบนี้ค่ะ 

No comments: