Friday, March 29, 2013

การแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในไซปรัส - ท่าทีของสหภาพยุโรป



ในที่สุดไซปรัสก็ตกลงรับเงื่อนไขกู้เงินจากสหภาพยุโรปและสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยรับเงินกู้เป็นจำนวน 10,000 ล้านยูโร หรือราว 400,000 ล้านบาทพร้อมเงื่อนไขที่จะหาเงินจำนวน 5,600 ล้านยูโร หรือราว 240,000 ล้านบาท เพื่อประกันเงินกู้ก้อนดังกล่าว

โดยเงื่อนไขนี้เองที่ทำให้สถานการณ์ในไซปรัสเกิดความปั่นป่วน เนื่องจากไซปรัสมีนโยบายที่จะหาเงินจำนวนดังกล่าวจากการเก็บภาษีเงินฝากของประชาชน ทำให้หลายคนตื่นตระหนกและแห่กันไปถอนเงินออกจากตู้เอทีเอ็มเป็นจำนวนมาก เนื่องจากรัฐบาลประกาศนโยบายดังกล่าวในวันที่เป็นวันหยุดของธนาคาร และประกาศปิดธนาคารยาวเกือบ 2 สัปดาห์จนถึงวานนี้ (28/03/2013) และยังส่งผลให้มีคนออกมาประท้วงจนทำให้การพิจารณารับรองต้องเลื่อนออกไปหลายครั้ง

ทั้งนี้ เงื่อนไขล่าสุด (เมื่อเวลา 10:00 GMT+7 วันที่ 29/03/2013) ที่รัฐบาลไซปรัสจะใช้ในการแก้ไขปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คือรัฐบาลจะกำหนดให้

·         ผู้ที่มีเงินฝากต่ำกว่า 10,000 ยูโร
o    ได้รับการประกันเงินฝากภายใต้กฎหมายของสหภาพยุโรป
o    ผู้นำไปรวมอยู่ใน “ธนาคารที่ดี” (Good Bank)
·         ผู้ที่มีเงินฝากเกินกว่า 10,000 ยูโร
o    ถูกหักเงินราว 35% จากเงินฝากในบัญชี เพื่อประกันเงินฝากของตัวเอง

หลังจากนี้แล้วธนาคารไซปรัส (Bank of Cyprus) จะถูกปรับโครงสร้าง มีการจัดการผู้ถือหุ้นและผู้ถือพันธบัตรใหม่ และอาจมีการปิดธนาคารไลกิ (Cyprus Popular Bank – Leiki)

นอกจากนี้ไซปรัสยังดำเนินนโยบายควบคุมเงินไหลเวียนด้วย โดยกำหนดให้ลูกค้าธนาคารสามารถถอนเงินได้วันละไม่เกิน 300 ยูโร และห้ามนำเงินสดมากกว่า 1,000 ยูโรออกจากประเทศ และจำกัดการโอนย้ายเงินออกนอกประเทศได้ไม่เกิน 5,000 ยูโรต่อเดือน ผ่านบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต


ท่าทีที่แข็งกร้าวของสหภาพยุโรป? อะไระเกิดขึ้นต่อไป? 

ท่าทีของสหภาพยุโรปก่อนหน้านี้นั้นค่อนข้างแข็งกร้าวต่อไซปรัส เนื่องจากสหภาพยุโรปขู่ว่า ธนาคารกลางยุโรปจะไม่ใช้บัญชีเงินฉุกเฉินสนับสนุนไซปรัสอีกต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้ไซปรัสล้มละลาย โดยหลายฝ่านตั้งข้อสังเกตุว่า สหภาพยุโรปข้ามเส้นในการบริหารจัดการทางการเงินของประเทศไซปรัสมาไปหรือไม่? เนื่องจากบีบบังคับไซปรัสให้เลือกระหว่างการล้มละลาย หรือการต้องเสียประโยชน์ของประเทศจากเงินลงทุนระหว่างประเทศ และการทำงานของกลไกการเก็บเงินภาษี/สวัสดิการของประเทศในระยะยาว  

ทำให้ก่อนหน้านี้หลายคนกลัวว่า ไซปรัสมีมติออกจากยูโรโซน และอาจเป็นจุดจบของสหภาพยุโรป – อย่างไรก็ตามผู้นำไซปรัสออกมาแถลงยืนยันแล้วว่าไซปรัสจะไม่ออกจากยูโรโซน และกิจกรรมในไซปรัสก็ยังดำเนินไปด้วยดี หลังได้ข้อสรุปและธนาคารเปิดทำการมาได้ 1 วันแล้ว

อย่างไรก็ตาม หลายคนก็ยังออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าการกระทำครั้งนี้เป็นการกระทำที่ “ไม่เป็นผู้ใหญ่” ของสหภาพยุโรปอย่างมาก เนื่องจากละเลยหลักประชาธิปไตย และอาจทำให้ความเชื่อถือระหว่างกันในกลุ่มประเทศยูโรโซน และลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนและโครงการของสหภาพยุโรป และระบบการทำงานในยูโรโซน ให้การพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต ส่งผลให้หลายคนตั้งคำถามว่า หากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ไม่ได้เกิดที่ประเทศไซปรัส ซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดเล็ก แต่ไปเกิดกับประเทศใหญ่ๆ อย่างสเปน หรือ อิตาลีจะเป็นอย่างไร? ประเทศเหล่านั้นจะเลือกออกจากยูโรโซนหรือไม่?